การดำเนินงานโครงการพัฒนาคุณภาพการศึกษาและการพัฒนาท้องถิ่นโดยมีสถาบันอุดมศึกษาเป็นพี่เลี้ยง เป็นโครงการตามนโยบายกระทรวงศึกษาธิการ ด้านอุดมศึกษาที่มุ่งเน้นส่งเสริมบทบาทให้สถาบันอุดมศึกษาทั่วประเทศทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงให้แก่สถานศึกษาในท้องถิ่นเพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษาและพัฒนาท้องถิ่น เพื่อขับเคลื่อนผลักดัน ส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดผลที่เป็นรูปธรรมจากปัจจุบันสู่อนาคต โดยมีเป้าหมายในการยกระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานของแต่ละท้องถิ่นทั่วประเทศให้เกิดการพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนการสอนที่มีประสิทธิภาพและให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการเรียนรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่น โดยมุ่งให้สถาบันอุดมศึกษานำนวัตกรรมทางการศึกษา ทรัพยากร ความรู้ความเชี่ยวชาญทางวิชาการของบุคลากรและเทคโนโลยีจากสถาบันอุดมศึกษาไปช่วยพัฒนาคุณภาพการศึกษาให้กับโรงเรียนระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานในท้องถิ่น โดยเน้นการพัฒนาตามความต้องการจำเป็นของสถานศึกษาและท้องถิ่นหรือตามนโยบายกระทรวงศึกษาธิการ เป็นโครงการหลักรายการหนึ่งของสำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา ที่ดำเนินการระยะที่ 1 ระหว่างปีงบประมาณ 2559-2563 และระยะที่สอง ระหว่าง ปีงบประมาณ 2564-2568
วัตถุประสงค์ทั่วไปของโครงการ
1.เพื่อพัฒนาระบบการทำงานร่วมกันระหว่างสถาบันอุดมศึกษากับสถานศึกษาขั้นพื้นฐานและชุมชนในการร่วมกันยกระดับคุณภาพการศึกษาของท้องถิ่น
2.เพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาหรือระบบสนับสนุนการจัดการเรียนรู้ ตามความต้องการจำเป็นของสถานศึกษากลุ่มเป้าหมาย
โดยสรุป คาดหวังว่าโครงการนี้จะก่อให้เกิดความร่วมมือในการพัฒนา เกิดผลดีต่อการยกระดับคุณภาพการศึกษาขึ้นพื้นฐานของประเทศ และนำมาซึ่งความร่วมมืออย่างต่อเนื่อง ระหว่างสถาบันอุดมศึกษาในท้องถิ่น และชุมชนในเขตพื้นที่บริการ สถาบันอุดมศึกษาเองก็จะได้บทเรียนที่สำคัญๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนางานตามพันธกิจ ในโอกาสต่อไป
ในการดำเนินงานโครงการพัฒนาคุณภาพการศึกษาและการพัฒนาท้องถิ่นโดยมีสถาบันอุดมศึกษาเป็นพี่เลี้ยง วิทยาลัยนานาชาติเซนต์เทเรซา เป็นสถาบันอุดมศึกษาในเครือข่ายอุดมศึกษาภาคตะวันออก ที่มีมหาวิทยาลัยบูรพาเป็นสถาบันแม่ข่าย โดยเครือข่ายนี้ ได้ดำเนินการพัฒนาคุณภาพการศึกษาและพัฒนาท้องถิ่นมาอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ในระยะแรกยังไม่มีการจัดทำโครงการพัฒนาในสถานศึกษาในจังหวัดนครนายก จนกระทั่งปีงบประมาณ 2562 วิทยาลัยเซนต์เทเรซา ในบทบาทของสถาบันอุดมศึกษาในเครือข่ายภาคตะวันออก จึงได้วางแผนพัฒนาโรงเรียนและพัฒนาท้องถิ่นภายใต้โครงการพัฒนาคุณภาพการศึกษาและการพัฒนาท้องถิ่นโดยมีสถาบันอุดมศึกษาเป็นพี่เลี้ยงร่วมกับสถาบันแม่ข่าย
การดำเนินงาน ปีงบประมาณ 2562 ได้กำหนดเป้าหมายโรงเรียนที่จะร่วมพัฒนาให้เป็นโรงเรียนต้นแบบของจังหวัด 3 โรงเรียน ทั้งนี้จากการหารือเบื้องต้นกับโรงเรียน ได้มีความเห็นตรงกันว่า ในชั้นต้น ให้เน้น (1) การพัฒนาให้เป็นโรงเรียนต้นแบบด้านการประกันคุณภาพการอ่านและใช้แหล่งเรียนรู้ในชุมชนเพื่อสนับสนุนการเรียนรู้ของนักเรียน และ/หรือ (2) การปลูกฝังค่านิยม การเป็นลูกที่ดีของพ่อแม่ ให้เด็กร่วมรับผิดชอบงานบ้านหรือร่วมดูแลครอบครัว และ/หรือ (3) การพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสารตามความต้องการของสถานศึกษา โดยให้สถานศึกษาแต่ละแห่งเลือกเน้น อย่างน้อย 2 รายการจาก 3 รายการ
โรงเรียนกลุ่มเป้าหมายที่ได้รับคัดเลือกเข้าร่วมโครงการ ในปีงบประมาณ 2562 จำนวน 3 โรงเรียน ประกอบด้วย โรงเรียนบ้านคลองใหญ่ โรงเรียนบ้านช่องตะเคียน และ โรงเรียนวัดราษฎร์ศรัทธาธรรม จังหวัดนครนายก
การดำเนินงานปีงบประมาณ 2563 วิทยาลัยนานาชาติเซนต์เทเรซา ในบทบาทของสถาบันอุดมศึกษาในเครือข่ายภาคตะวันออก ได้หารือร่วมกับกลุ่มโรงเรียนประถมศึกษา “ศูนย์พัฒนาคุณภาพการศึกษา องครักษ์ก้าวหน้า 2” ซึ่งมีโรงเรียนทั้งหมด 7 โรงเรียน โดยเห็นร่วมกันว่า ควรพัฒนาครูสู่การพัฒนาผู้เรียน มุ่งไปที่แนวคิด การจัดการศึกษาเพื่อความผาสุก (Education for Well-being) โดยประยุกต์แนวคิดของ OECD ที่ระบุว่า ปัจจัยที่จะทำให้สังคมโลกผาสุกหรือไม่ผาสุก อย่างน้อย มี 3 ประการ คือ ภัยพิบัติ-ภัยธรรมชาติ การมีงานทำ-การมีรายได้เพื่อการเลี้ยงชีพ และ การยอมรับความแตกต่าง ความสามารถอยู่ในสังคมที่มีความหลากหลาย แตกต่างกัน ซึ่งตามนัยนี้ สถานศึกษาจะต้องมุ่งพัฒนาผู้เรียน ให้ (1) มีความตระหนักในปัญหาสิ่งแวดล้อมและร่วมมือในการแก้ปัญหาหรือป้องกันปัญหาที่จะเกิดจากภัยพิบัติหรือสิ่งแวดล้อม (2) เรียนรู้เรื่องอาชีพ การศึกษาเพื่ออาชีพและการมีงานทำ มีนิสัยรักการทำงาน-สู้งาน และ (3) การพัฒนาผู้เรียนให้ยอมรับความแตกต่าง สามารถอยู่บนพื้นฐานความแตกต่างทางสังคม วัฒนธรรม หรือแนวคิดในการดำเนินชีวิต ทั้งนี้ จากการหารือเบื้องต้นกับโรงเรียนในกลุ่ม เห็นว่า ในชั้นต้น ให้เน้นการพัฒนาให้เป็นโรงเรียนต้นแบบด้านการประกันคุณภาพการอ่าน และการศึกษาเพื่อความผาสุก โดย ในด้านการศึกษาเพื่อความผาสุก โรงเรียนอาจเลือกกิจกรรมที่มุ่งให้ผู้เรียน (1) ตระหนักในปัญหาสิ่งแวดล้อมและร่วมมือในการแก้ปัญหาหรือป้องกันปัญหาที่จะเกิดจากภัยพิบัติหรือสิ่งแวดล้อม (2) เรียนรู้เรื่องอาชีพ การศึกษาเพื่ออาชีพและการมีงานทำ มีนิสัยรักการทำงาน-สู้งาน และ (3) การพัฒนาผู้เรียนให้ยอมรับความแตกต่าง สามารถอยู่บนพื้นฐานความแตกต่างทางสังคม วัฒนธรรม หรือแนวคิดในการดำเนินชีวิต ทั้งนี้ แต่ละโรงเรียนจะเลือกดำเนินกิจกรรม 1-3 รายการ ตามสภาพความพร้อมและบริบทของโรงเรียน โดยคาดหวังว่าจะได้โรงเรียนต้นแบบเพื่อการพัฒนาและจะเกิดความร่วมมือระหว่างวิทยาลัยฯ สถานศึกษากลุ่มเป้าหมายและสถานศึกษาอื่น ๆ ในเขตพื้นที่บริการ ในการร่วมมือเพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษาและพัฒนาท้องถิ่นอย่างเป็นระบบและยั่งยืน ต่อไป
ขอบเขตการดำเนินงานในปีงบประมาณ 2563
โรงเรียนเป้าหมาย 7 โรงเรียน ประกอบด้วย (1) โรงเรียนบ้านคลอง 22 (อาบเอิบจิตรอุปถัมภ์) (2) โรงเรียนบ้านปลายคลอง 22 (3) โรงเรียนวัดราษฎร์ประดิษฐ์ (4) โรงเรียนบ้านคลอง 23 (5) โรงเรียนวัดอารีราษฎร์ (6) โรงเรียนบ้านคลอง 24 และ (7) โรงเรียนบ้านช่องตะเคียน
จำนวนครูและนักเรียนกลุ่มเป้าหมายเพื่อการพัฒนา “ศูนย์พัฒนาคุณภาพการศึกษา องครักษ์ก้าวหน้า 2” ปรากฏดังตารางต่อไปนี้
โรงเรียนกลุ่มเป้าหมาย | จำนวนครู/นักเรียน | |
ครู | นักเรียน | |
(1) โรงเรียนบ้านคลอง 22(อาบเอิบจิตรอุปถัมภ์) | 12 | 230 |
(2) โรงเรียนบ้านปลายคลอง 22 | 4 | 86 |
(3) โรงเรียนวัดราษฎร์ประดิษฐ์ | 6 | 76 |
(4) โรงเรียนบ้านคลอง 23 | 8 | 70 |
(5) โรงเรียนวัดอารีราษฎร์ | 5 | 56 |
(6) โรงเรียนบ้านคลอง 24 | 9 | 168 |
(7) โรงเรียนบ้านช่องตะเคียน | 7 | 81 |
รวม | 51 | 767 |
การดำเนินงาน ปีงบประมาณ 2564
ในปีงบประมาณ พ.ศ.2564 วิทยาลัยนานาชาติเซนต์เทเรซาได้เข้าร่วมงานกับเครือข่ายภาคตะวันออก ได้รับมอบหมายให้ทดลองนำร่องสร้างต้นแบบการพัฒนาพัฒนาคุณภาพสถานศึกษาและท้องถิ่น จำนวน 13 สถานศึกษา โดยในการนี้ คณะศึกษาศาสตร์ ได้เลือกโรงเรียน 5 โรง คือ โรงเรียนบ้านคลองใหญ่ โรงเรียนบ้านช่องตะเคียน โรงเรียนวัดราษฎร์ศรัทธาธรรม โรงเรียนองครักษ์ และโรงเรียนนวมราชานุสรณ์ เป็นโรงเรียนต้นแบบแกนนำกลุ่ม และเลือกโรงเรียนอีกจำนวนหนึ่ง เป็นโรงเรียนร่วมพัฒนา ทั้งนี้ กิจกรรมเป้าหมายที่มุ่งพัฒนาประกอบด้วย
1. การประกันคุณภาพการอ่านและการเป็นนักอ่านของนักเรียน
2. การพัฒนาแหล่งเรียนรู้ ภูมิปัญญาท้องถิ่น ด้วยการจัดทำหนังสั้น และพัฒนาเป็นฐานข้อมูลจำแนกตามตำบลเขตที่ตั้งของโรงเรียน โดยความร่วมมือระหว่างสถานศึกษาและหน่วยงาน ทุกภาคส่วนในพื้นที่
3. กิจกรรมพัฒนาทักษะการใช้ภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสารสำหรับนักเรียน (เป็นไปตามความต้องการของสถานศึกษาและสถาบันอุดมศึกษา ที่ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านคุณภาพการศึกษาอย่างรวดเร็วหรือเห็นผลเป็นรูปธรรม)
การดำเนินการกิจกรรมทั้งสามรายการ เน้นให้โรงเรียนแกนนำและเครือข่ายย่อย ได้วางแผน พัฒนาให้สอดคล้องกับกรอบกิจกรรมกลาง จัดให้มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง ให้มีการนิเทศจากสถาบันพี่เลี้ยงและร่วมนิเทศระหว่างสมาชิกเครือข่าย รวมทั้งให้มีการจัดสัมมนาเสนอผลงานในรอบปี ในเดือน กันยายน 2564( ขยายเวลาการดำเนินงานถึง 30 มีนาคม 2565)
วัตถุประสงค์เฉพาะของโครงการ
1.เพื่อพัฒนาการทำงานร่วมกันระหว่างวิทยาลัยเซนต์เทเรซา กับ โรงเรียนสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานในจังหวัดนครนายก จำนวน 13 แห่ง
2.เพื่อยกระดับความสามารถในการอ่านของนักเรียนในโรงเรียนสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานในจังหวัดนครนายก จำนวน 13 แห่ง
3.เพื่อพัฒนากระบวนการจัดการศึกษาตามแนวคิด “การจัดการศึกษาโดยการมี ส่วนร่วมระหว่างสถานศึกษากับชุมชน” โดยการพัฒนาแหล่งเรียนรู้และภูมิปัญญาท้องถิ่น ทั้งเพื่อการเรียนรู้แบบบูรณาการของนักเรียนและเพื่อการพัฒนาท้องถิ่นรองรับการเป็นเมืองท่องเที่ยวของจังหวัดนครนายก
ขอบเขตการดำเนินโครงการ/กิจกรรม : กลุ่มเป้าหมาย
ลำดับ | ชื่อโรงเรียน | จังหวัด | สังกัด | จำนวนครู | จำนวนนักเรียน |
1 | นวมราชานุสรณ์ | นครนายก | สพฐ. | 37 | 819 |
2 | องครักษ์ | นครนายก | สพฐ. | 80 | 1530 |
3 | บ้านช่องตะเคียน | นครนายก | สพฐ. | 5 | 80 |
4 | วัดราษฏร์ศรัทธาธรรม | นครนายก | สพฐ. | 8 | 143 |
5 | บ้านคลองใหญ่ | นครนายก | สพฐ. | 6 | 72 |
6 | โรงเรียนวัดราษฏร์ประดิษฐ์ | นครนายก | สพฐ. | 5 | 74 |
7 | บ้านคลอง 22 (อาบเอิบจิตรอุปถัมภ์) | นครนายก | สพฐ. | 12 | 214 |
8 | บ้านปลายคลอง 22 | นครนายก | สพฐ. | 6 | 86 |
9 | บ้านคลอง 23 | นครนายก | สพฐ. | 5 | 63 |
10 | โรงเรียนวัดอารีราษฎร์ | นครนายก | สพฐ. | 5 | 56 |
11 | บ้านคลอง 24 | นครนายก | สพฐ. | 8 | 166 |
12 | อนุบาลองครักษ์ | นครนายก | สพฐ. | 60 | 1586 |
13 | วัดกุดตะเคียน | นครนายก | สพฐ. | 5 | 93 |